IAEA กังวลหลังโดรนโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ยูเครนส่งโดรนไปโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันหลายแห่งในหลายภูมิภาคของรัสเซีย ขณะเดียวกัน รัสเซียก็ได้สวนกลับด้วยการโจมตีพื้นที่พลเรือนในแคว้นต่างๆ ด้วยยุทธวิธีดับเบิลแทร็ป นอกจากการโจมตีพื้นที่เหล่านี้แล้ว มีรายงานว่า เกิดการต่อสู้ด้วยโดรนจนเกิดระเบิดในพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
โรซาตัม บริษัทผู้ดูแลกิจการด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของรัสเซีย ซึ่งเข้ามาควบคุมโรงไฟฟ้าซาโปริซเซียของยูเครน ระบุในแถลงการณ์ว่า ยูเครนส่งโดรนเข้ามาโจมตีโรงไฟฟ้า จนเกิดระเบิดบริเวณโดมเหนือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
ผลจากการโจมตีดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน แต่ตัวอาคารและพื้นที่โดยรอบได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และระดับค่ากัมมันตรังสีในพื้นที่ยังคงอยู่ในระดับปกติ
ขณะที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ซึ่งส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำการอยู่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย ได้ระบุผ่านบัญชีแอปพลิเคชัน X ว่า หน่วยงานได้รับแจ้งเหตุโจมตีจากทางบริษัทโรซาตัม และข้อมูลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ที่โรงไฟฟ้า สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัทโรซาตัมที่ระบุว่าการระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากโดรน ทั้งนี้ IAEA ไม่ได้ระบุว่า โดรนดังกล่าวเป็นของยูเครนตามที่บริษัทโรซาตัมกล่าวหาหรือไม่
ด้านราฟาเอล มารีโน กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ของ IAEA ได้ออกมาโพสต์ผ่านบัญชีแอปพลิเคชัน X เรียกร้องให้ทั้งรัสเซียและยูเครนหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะละเมิดความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ของ IAEA ยังได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานหลีกเลี่ยงอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ของ IAEA ซึ่งถูกตั้งไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ที่ผ่านมา
หลังมีรายงานโจมตีดังกล่าว แอนดรี ยูซอฟ โฆษกประจำหน่วยข่าวกรองกลาโหมของยูเครน ได้ออกมายืนยันชัดเจนว่า กองทัพยูเครนไม่มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนร่วมในการทำปฏิบัติการยั่วยุทางการทหารในพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งรัสเซียเข้ายึดครองแบบผิดกฎหมายมาตั้งแต่เมื่อปี 2022
รายงานการโจมตีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นการโจมตีพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่ IAEA ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำการเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2022 เหตุใดรายงานการโจมตีโรงไฟฟ้าแห่งนี้จึงกลับมาสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายอีกครั้ง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำดนีเปอร์ ที่เมืองเอเนอร์กอดาร์ แคว้นซาโปริซเซีย จากแผนที่จะเห็นได้ว่าบริเวณนี้ยังคงเป็นสีแดง เนื่องจากรัสเซียยึดพื้นที่นี้ได้ตั้งแต่การรุกรานยูเครนเฟสแรกเมื่อเดือนมีนาคมปี 2022
ที่นี่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและเป็น 1 ใน 10 โรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำความดันสูง 6 เครื่องที่บรรจุยูเรเนียม-235 พร้อมด้วยหอหล่อเย็น 2 หอ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 38,000 กิกะวัตต์ต่อปี
ผู้เชี่ยวชาญเคยประเมินว่า หากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ถูกโจมตีจนได้รับความเสียหายอย่างหนักและเตาปฏิกรณ์หลอมละลาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อปี 1986 และโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะเมื่อปี 2011 จนอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดจบของยุโรป (The end of Europe)
สาเหตุที่หลายฝ่ายเรียกเช่นนี้ เป็นเพราะถ้าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ระเบิด จะปล่อยสารกัมมันตรังสี ทำให้พื้นที่กว่า 30,000 ตารางกิโลเมตร กลายเป็นเขตควบคุมพิเศษที่มีสารกัมมันตรังสีความเข้มข้นสูงหลังจากนั้น แคว้นซาโปริซเซียและแคว้นรอบข้าง จะกลายเป็นพื้นที่อันตรายเช่นเดียวกับเมืองเชอร์โนบิลทางตอนเหนือของยูเครน
ประชาชนหลายหมื่นคนจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พื้นที่ควบคุมพิเศษจะไม่สามารถตั้งถิ่นฐานไปได้อีกอย่างน้อยหลักหลายร้อยปี และสารกัมมันตรังสีจะไหลลงสู่แม่น้ำดนีเปอร์ ทะเลอาซอฟ และทะเลดำ ซึ่งจะถูกน้ำพัดพาไปได้ครอบคลุม พื้นที่ 2 ล้านตารางกิโลเมตร สารกัมมันตรังสีที่ถูกพัดพาไป จะกระทบต่อประชากรหลายร้อยล้านคนของยุโรป ซึ่งจะทำให้เกิดโรคมะเร็ง การกลายพันธุ์ในยีนจนเกิดลักษณะผิดปกติตามอวัยวะต่างๆ และร่างกาย
หากหายนะดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะเกินการควบคุมและยากจะคาดเดา ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ที่ผ่านมา ทาง IAEA ตัดสินใจส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและประจำการในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย ท่ามกลางภาวะสงคราม
ในเวลานั้น IAEA ย้ำชัดเจนว่า หนึ่งในวิธีที่จะทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ปลอดภัย คือ การประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตปลอดทหาร หรือ No military zone เพื่อป้องกันการโจมตี อย่างไรก็ดี เขตปลอดทหารดังกล่าวยังคงเป็นเพียงแนวคิดและยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากรัสเซียไม่ยินยอม
นอกจากที่โรงไฟฟ้าซาโปริซเซียแล้ว ตอนนี้สถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ ของยูเครนยังคงน่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน เนื่องจากรัสเซียโจมตีทางอากาศอย่างหนัก เฉพาะเมื่อวานวันเดียว รัสเซียได้โจมตีเมืองคาร์คีฟถึงสองครั้งติดต่อกัน ซึ่งที่นี่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน ล่าสุดประธานาธิบดีเซเลนกี ได้ออกมาเตือนชาติตะวันตกถึงความสำคัญของระบบป้องกันภัยทางอากาศ
โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้พูดถึงเรื่องความสำคัญของการสนับสนุนจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะระบบป้องกันภัยทางอากาศ ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อ
ผู้นำยูเครนย้ำชัดเจนว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นในการปกป้องชีวิตของผู้คนและแผ่นดินยูเครน
แต่ถ้ารัสเซียยังคงโจมตีด้วยความถี่เช่นนี้และชาติพันธมิตรยังไม่ส่งระบบจรวดสำหรับระบบแพทริออตเข้ามาเพิ่มเติม ยูเครนจะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองเหลือแล้ว
นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนยังได้พูดถึงจำนวนของระบบป้องกันภัยทางอากาศสำหรับปกป้องน่านฟ้ายูเครน โดยเฉพาะระบบแพทริออต โดยระบุว่า ยูเครนต้องใช้ระบบแพทริออตจำนวน 25 ระบบ พร้อมกับระบบแบตเตอรี่ประมาณ 150-200 ระบบ สำหรับปกป้องน่านฟ้าทั่วยูเครน
หลายฝ่ายประเมินว่า ตอนนี้ยูเครนอาจมีระบบแพทริออตเพื่อปกป้องน่านฟ้าเพียง 3-5 ระบบ หรือหมายความว่ายูเครนยังต้องการระบบป้องกันภัยทางอากาศชนิดนี้อีก 20 ระบบ แต่ตอนนี้ปัญหาสำคัญกว่าการมีระบบแพทริออตไม่เพียงพอคือ ระบบแพทริออตที่ยูเครนครอบครองอยู่ กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาวุธจรวด
ล่าสุดเจ้าหน้าที่ของชาติตะวันตกหลายคนได้ระบุกับสำนักข่าว CNN ว่า จรวดสำหรับระบบแพทริออตของยูเครนกำลังจะหมดลงในเร็วๆ นี้ ทำให้ชาติพันธมิตรนาโตต้องเร่งตรวจคลังอาวุธ เพื่อเตรียมส่งจรวดแพทริออตให้ยูเครนใช้เฉพาะหน้าไปก่อน
นอกจากการยิงสกัดการโจมตีทางอากาศจำนวนมากจากรัสเซีย อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศยูเครนใกล้หมดคลัง คือ การไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณเพิ่มเติมด้านความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีงบช่วยเหลือยูเครนมูลค่ากว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.1 ล้านล้านบาทคำพูดจาก JOKER123 สล็อตเว็บตรง
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน มีแผนจะนำร่างกฎหมายนี้เข้าสภาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังต้องถูกระงับจากเกมการเมืองในสภาคองเกรสมานานหลายเดือน
กระแสข่าวนี้มีขึ้นหลังจากประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เผชิญกับแรงกดดันจากฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดน ชาติพันธมิตรนาโต และสมาชิกภายในพรรครีพับลิกันเอง
นอกจากนี้ กระแสข่าวนี้ยังมีขึ้นหลังพรรครีพับลิกันสร้างเงื่อนไขว่าประธานาธิบดีไบเดน ต้องยกเลิกคำสั่งระงับชั่วคราวเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตใหม่ให้แก่โรงงานส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว
สาเหตุที่ต้องเป็นเงื่อนไขนี้ เป็นเพราะการยกเลิกคำสั่งบังคับชั่วคราวดังกล่าว จะขัดต่อนโยบายป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตเคยสัญญาไว้ ซึ่งพรรครีพับลิกันมองว่านี่เป็นชัยชนะทางการเมือง
ด้านโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ก็ได้ออกมาพูดถึงเรื่องการผ่านงบประมาณเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับยูเครน และหวังว่าสภาคองเกรสจะผ่านร่างกฎหมายได้โดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ผู้นำของยูเครนยังระบุด้วยว่า หากสหรัฐฯ จะไม่ช่วยเหลือยูเครนและเปลี่ยนงบเหล่านั้นเป็นเงินกู้ ทางยูเครนก็จำเป้นต้องกู้เงินดังกล่าว เพราะยูเครนไม่ได้มีทางเลือกอื่นแล้ว